Get PR advice to
grow your business

for FREE!!

Free advice. CLICK!!

BLOG

ดีซี คอนซัลแทนส์ ชี้ทิศทางพีอาร์ยุค New Normal เข้าสู่ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเต็มรูปแบบ Storytelling is King – Context is Queen

February 15, 2021 | admin

กรุงเทพฯ - ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ บริษัทที่ปรึกษาด้านประชาสัมพันธ์ ชี้ทิศทางการประชาสัมพันธ์ในยุคที่โลกและประเทศไทยเผชิญความผันผวนอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนี้เรียกได้ว่าส่งผลกระทบต่อทุกวงการ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การสาธารณสุข และปฏิกิริยาของสังคม รวมถึงส่งผลถึงพฤติกรรมการใช้โซเชียล มีเดีย ของคนทั่วโลกที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงนับตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนก้าวสู่ปี พ.ศ. 2564

ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานที่ปรึกษา บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ฯ กูรูด้านประชาสัมพันธ์ชื่อดังได้กล่าวถึง การทำงานของพีอาร์ (Public Relations) ในยุคนี้ไว้ว่า ในอุตสาหกรรมด้านพีอาร์ เมื่อโลกเปลี่ยน วงการสื่อสารมวลชนเปลี่ยนไป พฤติกรรมในการเสพสื่อของผู้บริโภคเปลี่ยนไป พีอาร์เองก็ต้องมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตัวเองและวิธีการทำงานครั้งใหญ่เช่นกัน เมื่อก่อนพีอาร์อาจวัดมูลค่าผลงานจากมูลค่าสื่อ (Media Value) เช่น Share of Voice (SOV) หรือ Advertising Value Equivalent (AVE) แต่ปัจจุบัน พีอาร์จำเป็นต้องมีการยกระดับ (Up Skill) เป็นพีอาร์เชิงกลยุทธ์ (Re Skill) สามารถเป็นคลังสมองของลูกค้า ตอบโจทย์ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ด้วยการวางแผนประชาสัมพันธ์ที่สามารถประเมินผลลัพธ์สุดท้ายได้อย่างทันต่อเหตุการณ์ สามารถรองรับภาวะวิกฤติของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังต้องตอบโจทย์ลูกค้าในยุคนี้ได้อย่างรวดเร็ว ฉับไวด้วย

โดย ดร.ดนัย ได้พูดถึงเทรนด์ของพีอาร์ยุค New Normal 2021 : PR Digital Transformation ที่องค์กรประชาสัมพันธ์ ต้องยึดไว้ 5 ข้อหลัก ๆ ดังนี้

1. Storytelling is King - Context is Queen หมายถึง วิธีการเล่าเรื่องหรือการสื่อสารต้องเปลี่ยนไป เพราะในโลกของโซเชียล มีเดีย กลุ่มเป้าหมายที่รับข่าวสารนั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในการสื่อสารเรื่องราวแต่ละครั้ง พีอาร์ต้องสามารถบอกเล่า Key Message ประเด็นการสื่อสารสำคัญไปในช่องทางที่หลากหลาย และสื่อสารออกไปในทุกแพลตฟอร์มได้ (Multiple media platform) อีกทั้งยังต้องสื่อสารในบริบทที่ถูกต้อง ต้องเข้าใจภาวะอารมณ์ กระแสสังคม และประเมินจังหวะเวลาที่ถูกต้องในการสื่อสารเพื่อให้การสื่อสารได้ผลลัพธ์สูงสุด หรือเรียกง่าย ๆ ว่าต้องถูกที่ ถูกเวลา ยกตัวอย่าง เน็ต ไอดอล อย่าง “พิมรี่พาย” ที่จัดงานวันเด็กให้เด็ก ๆ บนดอย ซึ่งคลิปที่ถูกเผยแพร่ออกไปนั้น มีผู้ชมหลักหลายล้านวิวในเวลาอันรวดเร็ว หรืออาจพูดได้ว่าเป็นการจัดวันเด็กที่ได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดของปี

2. New Media Landscape พีอาร์ต้องเข้าใจภูมิทัศน์ของสื่อใหม่ เพราะต้องยอมรับว่า สื่อที่ทรงอิทธิพลในปัจจุบัน ไม่ใช่องค์กรสื่อ หรือสื่อดัง ๆ ที่เป็น Traditional Media อีกต่อไป แต่พีอาร์ต้องสามารถขยายช่องทางการสื่อสารจากทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ไปสู่สื่อใหม่ (New Media) ได้ ได้แก่ Net Citizen / Influencer / Blogger / Youtuber เป็นต้น ซึ่งถ้าพีอาร์เข้าใจภูมิทัศน์ใหม่ ก็จะทำให้พีอาร์ส่งต่อข่าวสารนั้น ๆ ได้อย่างถูกช่องทาง ก่อให้เกิดการรับรู้ เกิดกระแสสังคม นำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดให้แก่ลูกค้า

3. การใช้ Big Data พัฒนาสู่การฟังเสียงสังคม Social Listening สู่การเจาะเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายที่มีลักษณะเฉพาะตัว Consumer Insight หมายถึง พีอาร์ต้องรู้ว่า ตอนนี้โลกหรือสังคมกำลังพูดถึงแบรนด์ของลูกค้าเราอย่างไร ทั้งนี้เพื่อพีอาร์จะได้นำข้อมูลจาก Big Data มาวิเคราะห์ในการเลือกใช้ Tools หรือวางแผนกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ให้เฉียบคม ตรงใจ สัมพันธ์กับไลฟสไตล์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะยุคนี้เป็นยุคที่ทุกคนอยู่ในสังคมที่สามารถเลือกการเสพสื่อได้อย่างเสรี (People hear what they want to hear) อำนาจการบริโภคสื่ออยู่ที่นิ้วมือของผู้บริโภค พีอาร์จึงจำเป็นต้องเข้าใจในพฤติกรรมและนิสัยการเสพสื่อของกลุ่มเป้าหมายให้ได้อย่างลึกซึ้ง

4. Creativity and Technology is the new currency ความคิดสร้างสรรค์ผนวกกับการใช้เทคโนโลยี เป็นหัวใจสำคัญของการพีอาร์ พีอาร์ยุค 4.0 ต้องสามารถนำความคิดสร้างสรรค์ มาผสานกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตอบโจทย์ด้านการสื่อสารได้ เช่น การนำกลยุทธ์ด้านการตลาดดิจิทัลมาใช้ มีการสร้างคอนเท้นต์แบบโต้ตอบ วิดีโอ มาร์เก็ตติ้ง สร้างชุมชนและเครือข่าย ประยุกต์ใช้ AI และกลยุทธ์ Influencer Marketing เป็นต้น

5. Brand Positioning & Brand Love จุดยืนของแบรนด์และองค์กรเป็นสิ่งที่สำคัญ พีอาร์ต้องประเมินและปักหมุด จุดยืนขององค์กรให้เป็นที่ยอมรับกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย โดยคำนึงตลอดเวลาว่า ภาพลักษณ์ขององค์กรมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการทำพีอาร์ให้ลูกค้าในสภาพสังคมที่มีความเปราะบาง อาทิ ทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจการเมือง ส่งผลให้องค์กรต่าง ๆ ของลูกค้ามีความอ่อนไหวมากกว่าในอดีต พีอาร์จึงต้องทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำที่เกิดประโยชน์สูงสุดระยะยาว และสิ่งสำคัญ องค์กรต้องมุ่งมั่นทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ เป็นการสร้างความรัก ความศรัทธา ให้เกิดขึ้นกับองค์กร หรือที่เรียกว่า Brand Love

สามารถอ่านบทความอื่น ๆ จาก ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย เพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ : DC Consultants และ เฟซบุ๊ก แฟนเพจ : Danai Chanchaochai